คาดฝีมือพระแกะสลักหินกลางป่า อายุราว 30 ปีกรมศิลป์ยังไม่ระบุ

วันที่ 13 พ.ค. 67 จากกรณี ชาวบ้านไปหาเห็ดบนเขา แล้วไปเจอศิลาแกะสลักโบราณ อยู่บนเขากระเจียว ต.ลำนางรอง อ.โนนดินแดง จ.บุรีรัมย์ แล้วมีคนนำภาพไปโพสต์ สร้างความฮือฮาในโลกออนไลน์เป็นอย่างมาก ซึ่งแต่ละคนได้ออกมาแสดงความคิดเห็นเป็นจำนวนมากเช่น

ล้ำค่ามากค่ะ ,สวยงามสมบูรณ์มากค่ะ ,ขอบคุณชาวบ้านที่ไปเก็บเห็ด ทำให้เราได้พบสิ่งดีๆ ที่ล้ำค่า ,เป็นไปได้มั้ยคะว่าถ้าถางทำความสะอาดบริเวณนั้นอาจจะมีวัตถุโบราณหรือสถานที่เก่าแก่ซ่อนอยู่ คล้ายเมืองโบราณศรีเทพที่เพชรบูรณ์ หรือคำว่า“ใบหน้างดงาม ละมุน สมจริง คนแกะสลักเก่งมากๆๆช่างฝีมือดีมาก

ล่าสุดนายสุทธินันท์ พรหมชัย นักโบราณคดีประจำอุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง ได้เดินทางไปสำรวจภาพแกะสลักหินดังกล่าว เบื้องต้นพบว่าภาพดังกล่าวมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางหิน 6 เมตร มีร่องรอยการแกะสลัก กว้าง 130 เซนติเมตร สูง 145 เซนติเมตร ความสูงเศียร 25 เซนติเมตร ช่วงไหล่ประมาณ 40 เซนติเมตร ยังไม่สามารถระบุอายุของภาพได้

ซึ่งจะต้องสำรวจหลายด้าน ขณะผู้ที่มีความรู้หลายคนออกมาโพสต์ว่า น่าจะเป็นภาพของ พระนางสิริมหามายา หรือ มายาเทวี เป็นพระมารดาของ พระโคตมพุทธเจ้า พระศาสดาแห่งศาสนาพุทธ และเป็น พระเชษฐภคินีของ พระมหาปชาบดีโคตมีเถรี ภิกษุณีรูปแรกในพระพุทธศาสนา

แต่บางคนไม่เชื่อว่าเป็นของโบราณ เช่นเฟชบุ๊คชื่อ โชติวัฒน์ รุญเจริญ ได้โพสต์ว่า ว่าจะไม่โพสต์เรื่องนี้ เพราะเกรงจะมีดราม่าแต่หลายท่านถามไถ่กันมา เลยจำเป็นต้องโพสต์ ภาพสลักใน ป่าบุรีรัมย์ ที่เพิ่งค้นพบใหม่ และกำลังเป็นข่าวฮือฮากันอยู่ในขณะนี้ ในทรรศนะของผม

เป็นภาพสลักที่น่าจะเพิ่ง แกะสลักขึ้นมาไม่นาน

ช่างสลักน่าจะพยายามสลักให้เป็นรูป

พระนางสิริมหามายา เหนี่ยวกิ่งไม้

แต่ยังไม่เสร็จ ดันมีคนเก็บเห็ดมาเจอซะก่อน

ไม่น่าใช่ของเก่า ของโบราณพันปี

สังเกตจากรูปแบบศิลปะ

ไม่ใช่ทั้งศิลปะขอม/เขมรโบราณ

ไม่ใช่ทั้งศิลปะทวารวดี-อีสาน

ไม่ใช่ทั้งศิลปะอินเดียโบราณ

ใบหน้าสตรีอูมๆ รูปไข่ แบบนี้

คงเลียนแบบมาจาก ศิลปะล้านนา

เส้นผม เป็นเส้นๆ ขึ้นไปแบบนี้

ไม่มีในศิลปะโบราณใดๆ

ต่างหู รูปห่วง วงรี แบบนี้

ก็ไม่มีในศิลปะโบราณใดๆ

ผมว่าอายุน่าจะไม่กี่ปีเผลอๆ ช่างสลัก ยังนั่งยิ้มอยู่เมื่อได้เห็นข่าวนี้ แพร่กระจายออกไป

นายอิสระ ศิริสุทโท เจ้าหน้าที่เจ้าหน้าที่เขตเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดงใหญ่ กล่าวว่า ส่วนตัวคิดว่าภาพแกะสลักหินที่พบ น่าจะเป็นฝีมือของพระที่ครั้งนั้นเมื่อประมาณปี 2537 หรือประมาณ 30 ปีที่ผ่านมาบริเวณดังกล่าวเป็นที่ตั้งของสำนักสงฆ์ หลังจากมีการประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติ สำนักสงฆ์ได้หายไป

ด้านนางสำเนียง กองกระโทก อายุ 56 บ้านเลขที่ 13 หมู่ 5 ต. ลำนางรอง อ.โนนดินแดง คนเก็บเห็ดที่มาพบหินแกะสลักดังกล่าว เล่าว่าเคยขึ้นมาเก็บเห็ดบริเวณนี้เป็นประจำทุกปี แต่เพิ่งมาเจอเป็นรูปหิน รู้สึกตกใจและดีใจที่ได้เจอ ถึงแม้ภาพนี้จะมีอายุเท่าไหร่ก็ตาม พวกตนก็จะนับถือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่อไป

ผู้สื่อข่าวสยามนิวส์ จ.บุรีรัมย์ รายงาน