รวบ คู่หูอดีตแก๊งคอลเซ็นเตอร์ประเทศเพื่อนบ้าน ผันตัวเป็นเอเย่นต์ขายซิมม้าและบัญชีม้า

เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2567 เวลาประมาณ 01.45 น. ผู้สื่อข่าวสยามนิวส์ รายงานว่า พล.ต.ท.ธิติ แสงสว่าง ผบช.น.พล.ต.ต.วสันต์ เตชะอัครเกษม รอง ผบช.น. พล.ต.ต.นพศิลป์ พูลสวัสดิ์ รอง ผบช.น. พล.ต.ต.ธีรเดช ธรรมสุธีร์ ผบก.สส.บช.น. , ร.ต.อ.ปฏิภาน ไกรลาศฉิมพลี รองสว.กก.วิเคราะห์ข่าว เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.วิเคราะห์ข่าวและเครื่องมือพิเศษ สืบนครบาล ได้ร่วมกันจับกุมตัว 1.นางสาวกฤษณา อายุ 25 ปี ภูมิลำเนา ตำบลหนองสาหร่าย อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา 2.นางสาวนภัสสร อายุ 28 ปี ภูมิลำเนา ตำบลหนองสาหร่าย อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา

พร้อมด้วยของกลาง ดังนี้ 1.ซิมโทรศัพท์เคลื่อนที่ เครือข่าย เอไอเอส ที่ลงทะเบียนพร้อมใช้งานแล้ว รวมจำนวน 10 ซิม 2.ซิมโทรศัพท์เคลื่อนที่ เครือข่าย เอไอเอส ที่ยังไม่มีการลงทะเบียน จำนวน 490 ซิม 3.สมุดบัญชีธนาคารพร้อมบัตรเอทีเอ็ม และซิมซึ่งลงทะเบียนผูกบัญชี เปิดบัญชีโดย นายอุทัย จำนวน 1 ชุด 4.สมุดบัญชีธนาคารพร้อมบัตรเอทีเอ็ม และซิมซึ่งลงทะเบียนผูกบัญชี เปิดบัญชีโดย นางสาวอารียา จำนวน 1 ชุด 5.โทรศัพท์มือถือ ยี่ห้อ ไอโฟน รุ่น 11 โปรแม็กซ์ สีเขียว จำนวน 1 เครื่อง 6.โทรศัพท์มือถือ ยี่ห้อ ซัมซุง รุ่น เอ 12 สีน้ำเงิน จำนวน 1 เครื่อง

โดยกล่าวหาว่า – ร่วมกันเป็นธุระจัดหา โฆษณา หรือไขข่าวโดยประการใดๆ เพื่อให้มีการซื้อหรือขายเลขหมายโทรศัพท์สำหรับบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ซึ่งลงทะเบียนผู้ใช้บริการในนามของบุคคลหนึ่งบุคคลใดแล้ว แต่ไม่สามารถระบุตัวผู้ใช้บริการได้ และ – ร่วมกันเป็นธุระจัดหา โฆษณา หรือไขข่าวโดยประการใดๆ เพื่อให้มีการซื้อหรือขาย ให้เช่า ให้ยืม บัญชีเงินฝาก บัตรอิเล็กทรอนิกส์ หรือบัญชีเงินอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อใช้ในการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยีหรือความผิดทางอาญาอื่นใด ซึ่งลงทะเบียนผู้ใช้บริการในนามของบุคคลหนึ่งบุคคลใดแล้ว แต่ไม่สามารถระบุตัวผู้ใช้บริการได้ (เป็นธุระจัดหา จำหน่าย ซิมม้า,บัญชีม้า) จับกุมได้ที่ บริเวณถนนสาธารณะ ซอยอรรถกระวี แขวง คลองตัน เขต คลองเตย กรุงเทพมหานคร

พฤติการณ์ สืบเนื่องจากว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดสืบสวน กก.วิเคราะห์ข่าวและเครื่องมือพิเศษ บก.สส.บช.น. ได้สืบทราบว่ามีผู้ลักลอบจำหน่ายซิมโทรศัพท์ที่ได้ลงทะเบียนแล้วโดยบุคคลอื่นพร้อมใช้ และบัญชีเงินฝาก บัตรอิเล็กทรอนิกส์ หรือบัญชีเงินอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งมีความผิดตาม พ.ร.ก.มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566 จึงได้ให้สายลับทำการติดต่อล่อซื้อพูดคุยกันผ่านข้อความแอปพลิเคชั่นเฟซบุ๊ค โดยผู้ลักลอบจำหน่ายได้นัดหมายกันในวันที่ 15 มิถุนายน 2567 เวลาประมาณ 22.00 น. โดยได้ตกลงต่อรองกันจนได้ตกลงซื้อขายซิมโทรศัพท์เคลื่อนที่ เครือข่าย เอไอเอส ที่ลงทะเบียนพร้อมใช้งานแล้ว จำนวน 500 ซิม ในราคา 55,000 บาท และ สมุดบัญชี พร้อมบัตรเอทีเอ็มและซิมซึ่งผูกบัญชี จำนวน 2 บัญชี ในราคา 20,000 บาท รวมเป็นเงิน 75,000 บาท

โดยผู้ลักลอบจำหน่ายได้นัดหมายเบื้องต้นที่ บริเวณหลังห้างสรรพสินค้า บริเวณ พระราม 4 แขวงคลองตัน เขตคลองเตย กรุงเทพมหานคร แต่เมื่อถึงเวลาปรากฏว่า ผู้ใช้บัญชีเฟซบุ๊คดังกล่าวยังไม่มาตามนัด และได้แจ้งว่าโทรศัพท์แบตจะหมด ให้ติดต่อกันผ่าน ข้อความแอปพลิเคชั่นเฟซบุ๊ค จนต่อมา ในวันที่ 16 มิถุนายน 2567 เวลาประมาณ 01.45 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.วิเคราะห์ข่าวและเครื่องมือพิเศษ บก.สส.บช.น. ซึ่งได้เฝ้าจุดสังเกตการณ์ อยู่ บริเวณภายในซอยอรรถกระวี แขวงคลองตัน เขตคลองเตย กรุงเทพมหานคร ผู้ลักลอบจำหน่ายได้แจ้งว่ากำลังจะมาถึงได้สอบถามว่าให้ไปที่จุดใหน จึงได้แจ้งว่าเป็นหน้าร้าน ซอยอรรถกระวี แขวงคลองตัน เขตคลองเตย กรุงเทพมหานคร แล้วจึงได้มีรถยนต์สีดำขับขี่มาจอดบริเวณที่นัดหมาย (ทราบภายหลังเป็นแกร็ปคาร์) และมี นางสาวกฤษณา อายุ 25 ปี ผู้ต้องหาที่ 1 (ทราบชื่อภายหลัง) ลงมาจากรถและ นางสาวนภัสสร อายุ 28 ปี ผู้ต้องหาที่ 2 (ทราบชื่อภายหลัง) ซึ่งเป็นผู้ใช้เฟซบุ๊คที่ติดต่อกัน นั่งคอยอยู่บนรถ โดยผู้ต้องหาที่ 1 ถือกล่องลังกระดาษลังมาพบกับสายลับ สายลับจึงได้ทำการเปิดตรวจสอบพบว่าภายในกล่องดังกล่าวมีซิมจำนวน 500 ซิม และ สมุดบัญชีพร้อมบัตรเอทีเอ็ม และซิมซึ่งผูกกับบัญชีดังกล่าว จำนวน 2 ชุด จากนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดจับกุมซึ่งเฝ้าจุดสังเกตการณ์อยู่ จึงได้เข้าไปแสดงตัวเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจต่อผู้ต้องหาที่ 1 และเรียกผู้ต้องหาที่ 2 ลงมาจากรถ แจ้งว่าทั้งสองจะต้องถูกจับกุม โดย ผู้ต้องหาทั้งสอง ยอมรับว่าซิมทั้งหมด และ สมุดบัญชีธนาคารพร้อมบัตรเอทีเอ็ม และซิมซึ่งลงทะเบียนผูกบัญชี จำนวน 2 ชุด ดังกล่าวทั้งหมดเป็นของตนเองจริง กำลังจะนำมาให้กับผู้ติดต่อซื้อ

ในชั้นจับกุมผู้ต้องหาทั้งสอง ได้ทราบถึงพฤติการณ์ ข้อเท็จจริง สิทธิและข้อกล่าวหา ตามที่เจ้าหน้าที่ชุดจับกุมได้แจ้งให้ทราบดีโดยตลอดแล้วและได้ให้การ รับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา โดยจากการสอบถาม ทราบว่า ทั้งคู่ได้เคยไปทำงานเป็นคอลเซ็นเตอร์ อยู่ที่ประเทศเพื่อนบ้าน ผู้ต้องหาที่ 1 ( กฤษณา หรือ เก๋) ไปอยู่มา 2 ปี แล้วหนีกลับมา ผันตัวมาขายซิมโทรศัพท์ ส่วนผู้ต้องหาที่ 2 (นภัสสร หรือ อัพ) ตามเก๋ไปภายหลังแต่อยู่ได้ไม่ถึงเดือนไม่โอเคจึงได้กลับมา

จากนั้นได้นำตัวส่งพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลทองหล่อ พร้อมของกลาง เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป

ด้าน พล.ต.ต.ธีรเดช อยากขอประชาสัมพันธ์เตือนภัยมิจฉาชีพหลอกลวงให้เปิดบัญชีธนาคาร(บัญชีม้า)และเปิดซิมโทรศัพท์มือถือเพื่อไปใช้ในการกระทำผิด แลกกับค่าจ้างเพียงไม่กี่บาท ซึ่งคนร้าย จะนำซิมการ์ดที่ได้ ไปใช้ในการกระทำความผิด เช่น ใช้โทรศัพท์ไปหลอกลวงเหยื่อ, ใช้ประกอบการเปิดระบบธนาคารออนไลน์หรือเปิดกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์เพื่อรอรับเงินโอนจากการหลอกลวงเหยื่อหรือรับโอนเงินที่ได้จากการกระทำความผิด, ใช้ผูกกับบัญชีสื่อสังคมออนไลน์แล้วนำไปใช้กระทำความผิด ซึ่งตามกฎหมายนั้น ผู้ใดเปิดหรือยินยอมให้บุคคลอื่นใช้บัญชีเงินฝาก (คนเปิดบัญชีม้า) บัตรอิเล็กทรอนิกส์ หรือบัญชีเงินอิเล็กทรอนิกส์ของตน โดยมิได้มีเจตนาใช้เพื่อตนหรือเพื่อกิจการที่ตนเกี่ยวข้อง หรือยินยอมให้บุคคลอื่นใช้หรือยืมใช้เลขหมายโทรศัพท์ (คนเปิดซิมม้า) สำหรับบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ของตน ทั้งนี้ โดยประการที่รู้หรือควรรู้ว่าจะนำไปใช้ในการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือความผิดทางอาญาอื่นใด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 300,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ผู้สื่อข่าว กทม. ทีมข่าวสยามนิวส์ รายงาน