มนุษย์เงินเดือนที่เป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 เมื่อถึงวัยเกษียณหายห่วง มีเงินใช้ตลอดชีวิต ประกันสังคมจ่าย เงินบำนาญชราภาพ ซึ่งเป็นเงินที่สะสมมาจากการทำงาน หรือเงินที่ถูกหักสะสมค่าประกันสังคมในทุกๆ เดือน จำนวน 5% ของเงินเดือน (สูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท) ตั้งแต่ 250-750 บาท แต่ละคนได้รับไม่เท่ากัน
หลักเกณฑ์และเงื่อนไขการได้รับเงินบำนาญชราภาพ
ผู้ประกันตนต้องส่งเงินสมทบตั้งแต่ 180 เดือน (15 ปี) ขึ้นไป จะได้รับเป็นเงินบำนาญชราภาพ (จ่ายเป็นรายเดือนตลอดชีวิต) ในอัตราร้อยละ 20 ของค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้ายก่อนความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลง
หากจ่ายเงินสมทบเกิน 180 เดือน จะได้รับเพิ่มอีกร้อยละ 1.5 ต่อระยะเวลาการจ่ายเงินสมทบครบทุก 12 เดือน
ตัวอย่างการคำนวณ หากผู้ประกันตนทำงานได้รับเงินค่าจ้างเดือนละ 15,000 บาท มาตลอด และส่งเงินสมทบมาแล้ว 20 ปี เมื่ออายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ สามารถขอรับเงินบำนาญชราภาพได้ โดยมีวิธีคำนวณเงินบำนาญชราภาพ เป็น 2 ส่วน ดังนี้
ส่วนที่ 1 ผู้ประกันตนส่งเงินสมทบครบ 180 เดือน (15 ปี) จะได้อัตราเงินบำนาญ 20% ส่วนที่ 2 และในปีที่ 16 – ปีที่ 20 (5 ปี) จะได้รับอัตราเงินบำนาญ เพิ่มอีกร้อยละ 1.5 ต่อปี รวมอัตราเงินบำนาญ 20 ปี จะได้ 20% + 7.5% = 27.5%
ดังนั้น ผู้ประกันตนจะได้รับเงินบำนาญรายเดือน = 27.5% ของ 15,000 บาท คือ 4,125 บาทต่อเดือนตลอดชีวิต
ล่าสุดวันนี้ (27 ส.ค.67) เพจเฟซบุ๊ก สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน – Social Security Office ได้โพสต์คลิปวิดีโอ อดีตผู้ประกันตนมาตรา 33 ผู้ได้รับเงินบำนาญชราภาพช่วยเหลือตลอดชีวิต หลังลาออกจากงาน เพราะประสบอุบัติเหตุ
โดยคลิปรีวิวชีวิตหลังลาออกจากงานของคุณประสิทธิ์ชัย สิงห์อุไร อดีตผู้ประกันตนมาตรา 33 ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ที่ประสบอุบัติเหตุได้รับบาดเจ็บสาหัส เมื่อปี 2566 จนเป็นเหตุให้ต้องลาออกจากงาน
จากนั้นจึงได้ทำเรื่องยื่นส่งเอกสารเบิกเงินบำนาญชราภาพ ที่สำนักงานประกันสังคม ได้รับเดือนละ 4,295 บาท ตลอดชีวิต จากการส่งเงินสมทบเป็นผู้ประกันตนตั้งแต่ปี 2543-2566 มีเงินสะสมกว่า 200,000 บาท
ซึ่งทางสำนักงานประกันสังคม ก็ได้จ่ายเงินบำนาญชราภาพผ่านระบบพร้อมเพย์ให้ในทุกๆ เดือน ตั้งแต่เดือนมราคม 2567 เป็นต้นมา
คุณประสิทธิ์ชัย สิงห์อุไร เผย ได้สิทธิประกันสังคมช่วยดูแลทุกอย่าง ถ้าไม่มีประกันสังคมคงลำบาก นอกจากสิทธิรักษาอาการเจ็บป่วยแล้ว ก็มีเงินบำนาญด้วย ช่วยมาจุนเจือครอบครัว
เอกสารที่ต้องเตรียมยื่นที่สำนักงานประกันสังคม กรุงเทพมหานคร พื้นที่/จังหวัด/สาขา
-สำเนาบัตรประชาชน
แบบคำขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพ สปส.2-01
สำเนาสมุดบัญชีเงินฝาก ประเภทออมทรัพย์ หรือพร้อมเพย์ ที่ลงทะเบียนเลขบัตรประชาชน
ผู้ประกันตนสามารถตรวจสอบยอดสะสมเงินชราภาพของตัวเองได้ง่ายๆ ดังนี้
1.ตรวจสอบข้อมูลผ่านเว็บไซต์ https://www.sso.go.th/
2.กรอกเลขบัตรประชาชน / รหัสผ่าน
3.เลือกเมนู “ข้อมูลการส่งเงินสมทบ”
4.กดเลือก ปี พ.ศ. ตรวจสอบได้ทันที
นอกจากนี้สามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน “SSO Connect” ใช้ได้ทั้งระบบ ios และ android ผู้ประกันตนสามารถตรวจสอบสิทธิประโยชน์ผ่านทางสมาร์ตโฟนได้ทันที วิธีใช้งานดังนี้
ลงทะเบียนยืนยันตัวตนด้วย เลขบัตรประจำตัวประชาชน และ เบอร์โทรศัพท์
หรือ หากผู้ประกันตนได้สมัครตรวจสอบข้อมูลทางเว็บไซต์ https://www.sso.go.th/ แล้ว สามารถใช้รหัสผ่านเดียวกันได้เลย
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับประกันสังคมได้ที่ https://www.sso.go.th/ หรือโทรสายด่วน 1506 ให้บริการทุกวัน ตลอด 24 ชั่วโมง
ข้อมูลจาก สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน – Social Security Office