กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) ร่วมกันจับกุม นายธนโชติฯ อายุ ๖๕ ผู้ต้องหาตามหมายจับ ศาลจังหวัดสมุทรสาคร ที่ จ.๑๒๒/๒๕๖๗ ลงวันที่ ๒๖ เมษายน ๒๕๖๗ ในความผิดฐาน “ร่วมกันมีเจตนาออกใบกำกับภาษี โดยไม่มีสิทธิจะออก อันเป็นความผิดตามมาตรา ๙๐/๔ (๓) แห่งประมวลรัษฎากร” สถานที่จับกุม เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.๒ บก.ปอศ. ได้ร่วมกันจับกุมผู้ต้องหาที่ภายในบริเวณวัดแห่งหนึ่ง หมู่ที่ ๔ บ้านสระจันทอง ต.สระลงเรือ อ.ห้วยกระเจา จ.กาญจนบุรี
พฤติการณ์ สืบเนื่องจาก กก.๒ บก.ปอศ. ได้เปิดปฏิบัติการ Anti tax crime จึงได้เริ่มปฏิบัติการปราบปรามกับขบวนการปลอมใบกำกับภาษีอย่างต่อเนื่อง และกรมสรรพากรได้เข้ามาร้องทุกข์ที่ กก.๒ บก.ปอศ. ให้พิจารณาดำเนินความผิดคดีอาญา กับจับกุม นายธนโชติฯ ผู้ต้องหา ทั้งในฐานะนิติบุคคล และฐานะส่วนตัว ซึ่งมีชื่อเป็นกรรมการผู้มีอำนาจของบริษัทแห่งหนึ่ง ซึ่งบริษัทดังกล่าวเป็นผู้ประกอบการภาษีมูลค่าเพิ่ม และประกอบกิจการจำหน่ายเศษเหล็กทุกชนิด เมื่อไปตรวจสอบพบว่าบริษัทฯ ได้รื้อถอนและไม่มีการประกอบกิจการแล้ว ประกอบกับกองตรวจสอบภาษีกลาง ได้นำรายชื่อบริษัทดังกล่าว ขึ้นตรวจสอบ ในระบบข้อมูลผู้ออกใบกำกับภาษีโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ประเภทไม่ต้องสอบยัน ดังนั้นใบกำกับภาษีที่บริษัท ดังกล่าวออกจึงเป็นใบกำกับภาษีที่ไม่มีสิทธิจะออก ตามมาตรา ๘๖/๑๓, ๙๐/๔(๓) ประกอบมาตรา ๘๓ แห่งประมวลรัษฎากร และบริษัทได้ออกใบกำกับภาษีโดยไม่มีสิทธิจะออก ตั้งแต่ปี ๒๕๕๕ – ๒๕๕๘ การกระทำดังกล่าวทำให้รัฐขาดรายได้ไม่ได้รับการชำระภาษีมูลค่าเพิ่ม ทำให้กระทบถึงเศรษฐกิจภาพรวม ของประเทศ และรัฐได้รับความเสียหายกว่า ๑๔๖ ล้านบาท ต่อมา เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดจับกุม ได้ทำการสืบสวนจนสืบทราบว่า นายธนโชติฯ ผู้ต้องหา ได้หนีไปบวชเป็นพระอยู่ที่วัดแห่งหนึ่ง ใน จ.กาญจนบุรี เจ้าหน้าที่ชุดสืบสวนจึงได้เดินทางไปวัดดังกล่าว และเมื่อผู้ต้องหาปรากฏตัวจึงได้เข้าแสดงตัวขอตรวจสอบและพบว่าเป็นผู้ต้องหาตามหมายจับจริง จึงดำเนินการจับกุมบริเวณดังกล่าว และนำตัวผู้ต้องหาส่งพนักงานสอบสวน กก.๒ บก.ปอศ. เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป
สอบถามคำให้การผู้ต้องหาเบื้องต้น ผู้ต้องหาให้การให้ปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา ตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) เตือนภัย กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ ได้ดำเนินการตามมาตรการเชิงรุก ป้องกันปราบปรามและจับกุมผู้กระทำความผิด รวมถึงผู้ประกอบการธุรกิจ ที่ได้ดำเนินการออกใบกำกับภาษีปลอม โดยไม่มีสิทธิจะออก ทำให้รัฐเกิดความเสียหาย ซึ่งถือว่าเป็นผู้กระทำผิดตามประมวลกฎหมายรัษฎากร และฝากเตือนถึงประชาชนทั่วไปห้ามซื้อขายบัตรประชาชน หรือบัญชีธนาคารให้กับบุคลอื่นๆ ก่อนที่จะตกเป็นผู้ต้องหาโดยไม่รู้ตัว และความผิดดังกล่าว มีโทษจำคุกสูงถึง ๗ ปี
เรียบเรียง ผู้สื่อข่าวสยามนิวส์ นครบาล